Wisdom
ขั้นตอนการพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์
เรียบเรียงโดย ดร. วิทูร เจียมจิตต์ตรง
องค์กรพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Industrial Development Organization – UNIDO ได้เสนอกรอบแนวคิดขั้นตอนในการพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ ไว้ 6 ขั้นตอนคือ 1. การคัดเลือกอุตสาหกรรมมาดำเนินการในรูปแบบคลัสเตอร์ (Cluster Selection) 2. การคัดเลือกผู้แทนเครือข่ายคลัสเตอร์ (Selection of CDA) 3. การวินิจฉัยคลัสเตอร์ (Cluster Diagnostic) 4. การกำหนดวิสัยทัศน์และแผนปฏิบัติการ (Vision Building and Action Planning) 5. การดำเนินการ (Implementation) 6. การติดตามและการประเมินผล (Monitoring and Evaluation)
- การคัดเลือกอุตสาหกรรมมาดำเนินการในรูปแบบคลัสเตอร์ (Cluster Selection) ในการคัดเลือกอุตสาหกรรมเพื่อเข้ามาร่วมโครงการพัฒนาเป็นคลัสเตอร์จะต้องมีกระบวนการที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี เป็นกระบวนการที่ใช้วิธีการมีส่วนร่วมภายใต้เกณฑ์การพิจารณาที่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งผลของกระบวนการคัดเลือกจะทำให้สามารถบ่งชี้อุตสาหกรรมที่เมื่อนำมาดำเนินการพัฒนาแบบคลัสเตอร์แล้วจะเกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมได้มากที่สุดภายใต้ข้อจำกัดหรืองบประมาณที่มี ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนระดับนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
- การคัดเลือกผู้แทนเครือข่ายคลัสเตอร์ (Selection of CDA) ภายหลังที่ได้กำหนดประเภทอุตสาหกรรมที่จะนำมาดำเนินการแล้ว จะมีการแต่งตั้งผู้แทนเครือข่ายคลัสเตอร์เพื่อมาทำหน้าที่ในการอำนวยการพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ ผู้แทนเครือข่ายคลัสเตอร์จะหน้าที่วินิจฉัยกลุ่มคลัสเตอร์ (จากขั้นตอนที่ 3) และร่วมกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับคลัสเตอร์ เปลี่ยนแปลงให้กลุ่มคลัสเตอร์มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น โดยผู้แทนเครือข่ายคลัสเตอร์จะกำหนดรูปแบบการดำเนินงานขึ้นมาโดยยึดหลักธรรมาภิบาล
- การวินิจฉัยคลัสเตอร์ (Cluster Diagnostic) ภายหลังการคัดเลือกประเภทอุตสาหกรรมเพื่อนำมาพัฒนาเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ ผู้แทนเครือข่ายคลัสเตอร์จะเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการเรื่องการวินิจฉัยกลุ่มคลัสเตอร์ การวินิจฉัยนั้นจะทำให้ เกิดความเข้าใจสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมและความเป็นองค์กรของคลัสเตอร์ บ่งชี้จุดที่สามารถนำมาดำเนินการปรับปรุงคลัสเตอร์ กำหนดเส้นฐาน (Baseline) ในการติดตามและประเมินผล และสร้างความไว้วางใจกันระหว่างผู้แทนเครือข่ายคลัสเตอร์และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของกลุ่มคลัสเตอร์ การวินิจฉัยคลัสเตอร์นั้นควรเป็นการดำเนินการแบบมีส่วนร่วมโดยที่ผู้ที่เป็นผู้ให้ข้อมูลหลักคือผู้ที่มีส่วนได้เสียของคลัสเตอร์ ซึ่งขั้นตอนนี้จะทำให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจในเรื่องการพัฒนาคลัสเตอร์ได้ดีขึ้น
- การกำหนดวิสัยทัศน์และแผนปฏิบัติการ (Vision Building and Action Planning) การกำหนดวิสัยทัศน์และแผนปฏิบัติการไม่ใช่ขั้นตอนที่ทำครั้งแรกเพียงครั้งเดียวแล้วใช้ได้ตลอดไป แต่จะต้องนำกลับมาพิจารณาเป็นระยะตลอดเวลาที่มีการดำเนินโครงการ การจัดทำเริ่มต้นจากการนำผลที่ได้จากการวินิจฉัยคลัสเตอร์มากำหนดเป็นวิสัยทัศน์ที่กำหนดอนาคตผลการดำเนินงานหรือผลการพัฒนาของกลุ่มคลัสเตอร์ ซึ่งจะต้องมีการทบทวนตลอดเวลา หากจำเป็นจะต้องมีการแก้ไข แผนปฏิบัติการคือการแปลวิสัยทัศน์ออกมาเป็นสิ่งที่ต้องนำไปดำเนินการได้จริง แผนปฏิบัติอาจมองได้ว่าเป็นแผนที่การทำงาน (Roadmap) ของการพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ก็ได้ เช่นเดียวกับวิสัยทัศน์ แผนปฏิบัติการสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของกลุ่มคลัสเตอร์เมื่อได้พิจารณารายงานการติดตามและการประเมินผลของการดำเนินงาน
- การดำเนินการ (Implementation) หมายถึงการดำเนินงานตามกิจกรรมที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการ ผู้แทนเครือข่ายคลัสเตอร์จะเป็นผู้อำนวยการในกระบวนการนี้ แต่ไม่ต้องไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้บริการกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของกลุ่มคลัสเตอร์ในเรื่องอื่น ผู้แทนเครือข่ายคลัสเตอร์ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆให้กิจกรรมนั้นสามารถดำเนินการไปได้ตามแผนปฏิบัติ แต่ต้องรับผิดชอบตามการกรอบเวลาที่กำหนดไว้
- การติดตามและการประเมินผล (Monitoring and Evaluation) เป็นกระบวนการที่ต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องทันทีหลังจากมีการกำหนดกลุ่มคลัสเตอร์ การติดตามและการประเมินผลจะดำเนินการติดตามข้อมูลปัจจัยขาเข้า (input) ผลผลิต (output) ผลลัพธ์ (outcome) และผลสัมฤทธิ์ (impact) ที่ได้กำหนดไว้ตามระยะเวลาของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการติดตามและการประเมินผล ระยะเวลา และความถี่ในการจัดเก็บข้อมูลและต้องกำหนดวิธีการในการดำเนินการดังกล่าวด้วย


Ready to take your business to the next level?
Connect with us below!