Wisdom

แนวคิดการพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเพื่อการเติบโตที่เท่าเทียมกัน
เรียบเรียงโดย ดร. วิทูร เจียมจิตต์ตรง

             การพัฒนาการเจริญเติบโตของกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรม คงไม่ได้เกิดขึ้นด้วยการพัฒนาที่ใช้มุมมองด้านการตลาดเพื่อสร้างการเติบโตของยอดขายให้กับกลุ่มเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องอาศัยมุมมองการพัฒนาเพื่อสร้างให้สภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศน์ของการทำงานเกิดการพัฒนาที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในมิติต่างๆอย่างกว้างขวางเกี่ยวพันกับกิจกรรมที่ครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรมของกลุ่มคลัสเตอร์ เช่น การจัดการการผลิต การจัดหาวัตถุดิบ การพัฒนาคุณภาพสินค้า หรืองานนวัตกรรม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อทำให้การเติบโตของกลุ่มคลัสเตอร์มีความยั่งยืนและเป็นการเติบโตที่มีความเท่าเทียมกัน(Inclusive Growth) ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่มีใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง กลุ่มคลัสเตอร์จึงเป็นการรวมกลุ่มวิสาหกิจที่มีความเชื่อมโยงกันในด้านเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่แห่งหนึ่ง การพัฒนาเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจจะมีความสัมพันธ์กับด้านสังคมในพื้นที่นั้นควบคู่ไปด้วยเสมอ ผู้ประกอบการและผู้ปฏิบัติงานของวิสาหกิจที่ดำเนินการอยู่ในกลุ่มคลัสเตอร์ จะมีความเชื่อมโยงกันในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองร่วมกัน โดยจะมีการแลกเปลี่ยนไปมาของทรัพยากร องค์ความรู้ และความช่วยเหลือกัน เป็นเหตุให้เกิดการเติบโตไปพร้อมๆกันนำไปสู่ความเท่าเทียมกัน ซึ่งการดำเนินธุรกิจแบบอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มคลัสเตอร์ไม่มีขั้นตอนในการทำให้เกิดผลดังกล่าวได้

            การพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ที่ดีเริ่มต้นด้วยการมีความคิดริเริ่มภายในกลุ่มคลัสเตอร์(Cluster Initiatives)เพื่อการพัฒนาร่วมกันของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมไปถึงกลุ่มองค์กรหรือสถาบันที่มีบทบาทในการสนับสนุนของอุตสาหกรรม การมีความคิดร่วมกันในการดำเนินการจะทำให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียกับอุตสาหกรรมได้ร่วมกันค้นหาหนทางดำเนินการ ก้าวข้ามข้อจำกัดและแสวงหาโอกาสที่สามารถเข้าถึงได้จากการเป็นกลุ่มคลัสเตอร์แต่ไม่สามารถกระทำสิ่งนั้นได้เมื่อมีฐานะเป็นเพียงองค์กรวิสาหกิจแต่ละแห่ง ผลที่เกิดขึ้นเมื่อนำเอาความคิดริเริ่มนั้นไปดำเนินการก็จะทำให้กลุ่มคลัสเตอร์เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นผลต่อเนื่องกับชุมชนที่กลุ่มคลัสเตอร์มีที่ตั้งดำเนินการอยู่

            แนวคิดพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเพื่อการเติบโตที่เท่าเทียมกัน จะยึดแนวคิดของหลักการที่องค์กรพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Industrial Development Organization – UNIDO ได้เสนอเป็นรูปวงจรที่เรียกว่า วงจรเที่ยงธรรม – Virtuous Cycle ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ขั้นตอน คือ การพัฒนาต้นทุนทางสังคม (Social Capital), การดำเนินงานอย่างมีธรรมาภิบาล (Governance), การร่วมมือกันทำ (Joint Actions), การบรรลุผลด้านเศรษฐศาสตร์ (Economic Performance)

            ขั้นที่ 1 การพัฒนาต้นทุนทางสังคม เป็นขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญมากเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ วิสาหกิจผู้มีส่วนได้เสียกับอุตสาหกรรมรวมทั้งองค์กรสนับสนุนจะต้องมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่มีความไว้วางใจกัน (Trust) ประโยชน์ส่วนรวมมีความสำคัญกว่าประโยชน์ส่วนตนเพียงลำพัง สร้างค่านิยมร่วมกัน (Shared Value) สร้างความเชื่อในทิศทางเดียวกัน โดยที่กลุ่มคลัสเตอร์มีสองสิ่งนี้ก็จะทำให้เกิดความคิดริเริ่มมองหาสิ่งใหม่เพื่อการพัฒนากลุ่มและมีโอกาสเกิดผลสำเร็จได้

            ขั้นที่ 2 การดำเนินงานอย่างมีธรรมาภิบาล วิสาหกิจผู้มีส่วนได้เสียและองค์กรสนับสนุนจะต้องมีระบบการดำเนินงาน มีผู้แทนเข้ามาร่วมกันทำหน้าที่ที่มีการร่วมกันกำหนดขึ้น ร่วมกันให้ข้อมูล ให้ข้อคิดเห็นและร่วมเป็นผู้ดำเนินการด้วย สิ่งสำคัญประการแรกของการร่วมดำเนินการคือการร่วมกันวางแผนกลยุทธ์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงกลุ่มคลัสเตอร์ให้เปลี่ยนแปลงฟื้นตัวจากปัจจุบันไปสู่จุดที่ดีขึ้น (Resilient Joint Planning) นอกจากนั้นยังมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องคือการสร้างแนวคิดการร่วมมือในด้านขีดความสามารถในการผลิต (Coordination Capacity) คือการมองเห็นความสามารถของกลุ่มที่สามารถนำมาเชื่อมโยงเป็นฐานของการคิดไปข้างหน้าได้อย่างถูกต้อง

            ขั้นที่ 3 การร่วมมือกันทำ หมายถึงการจัดให้มีข้อตกลงหน้าที่ความรับผิดชอบบนพื้นฐานความไว้วางใจกัน (Trust-based Contractual Arrangement) ระหว่างผู้ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบที่เป็นตัวแทนของผู้ที่มีส่วนได้เสียหรือองค์กรสนับสนุน ผู้ที่ได้รับมอบหมายจะต้องคำนึงว่าสิ่งที่ทำนั้นจะทำให้เกิดผลดีไม่ใช่เฉพาะองค์กรของตนแต่เกิดผลดีต่ออุตสาหกรรม นอกจากนั้น การริเริ่มความร่วมมือกันในการจัดหาวัตถุดิบหรือสิ่งที่มีการใช้ร่วมกัน (Joint Purchasing Initiatives) หรือจัดตั้งระบบการทำงานของกลุ่มคลัสเตอร์ให้มีประสิทธิภาพอย่างเป็นทางการ ก็เป็นตัวอย่างของขั้นอตนการร่วมมือกันทำ

            ขั้นที่ 4 การบรรลุผลด้านเศรษฐศาสตร์ ผลสำเร็จของการร่วมกลุ่มต้องมีการบันทึก เรียนรู้และเป็นที่รับทราบกันระหว่างสมาชิกกลุ่มคลัสเตอร์ เช่น การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพ (Increasing Productivity) การขยายตัวการส่งออก (Increasing Export) หรือการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปตามความต้องการของตลาด (Adaptation to Changing Market Requirement) หรือการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติสินค้าจากนวัตกรรมใหม่ๆ การรวมกลุ่มที่ไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ได้และไม่มีการวัดความก้าวหน้าจะขาดพลังในการขับเคลื่อนพัฒนากลุ่มให้ก้าวหน้าไป เพราะไม่สามารถตอบได้ว่าอะไรคือความสำเร็จของการรวมกลุ่มคลัสเตอร์

Ready to take your business to the next level?

Connect with us below!

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
error: Content is protected !!